เปลี่ยนภาษา: English
นางสาวปาริชาต ภัทรพานิชชัย นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ University of Regina ประเทศแคนาดา
นายปริญญา บุญเอี่ยม นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น
นายเอกรินทร์ จ่าเมือง นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น
นายยุทธนา บุญปาลิต นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น
ดูบันทึกจากนักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้งหมด
ว่าที่ ร.ท. เฉลิมรัช นนทะภา นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ York University ประเทศแคนาดา
นักศึกษา หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
1 ตุลาคม 2562 ถึง 25 มีนาคม 2563
นักศึกษาแลกเปลี่ยนระดับปริญญาเอก ภายใต้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดา Canada-ASEAN Scholarships and Educational Exchanges for Development (SEED 2019-2020) ไปทำวิจัยที่หน่วยวิจัย Big Data Research, Analytics, and Information Network (BRAIN LAB) ใน Department of Electrical Engineering and Computer Science
ผมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในหลักสูตรปริญญาเอกคณิตศาสตร์ (นานาชาติ) ของสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาในที่ปรึกษาของอาจารย์ ดร.ชัยณรงค์ เกษามูลและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ อินทรไพบูลย์ ทำงานวิจัยทางด้านเบย์เซี่ยนเนทเวิร์ค สืบเนื่องจากการไปอบรม Statistical Learning ที่จัดโดยโครงการวิทยาการประกันภัย ผมได้รับทราบข่าวทุนวิจัยจากรองศาสตราจารย์ ดร.กมล บุษบา ว่าได้รับแจ้งทางอีเมลล์จาก Prof.Dr.Andrei Volodin ว่ามีทุนไปทำงานวิจัยที่แคนาดา ซึ่งเป็นทุนให้เปล่า เมื่อผมนำเรื่องไปเรียนปรึกษาอาจารย์พีระศักดิ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปราณี ลิสวัสดิ์ ทราบว่าผู้สมัครทุนนี้จะต้องมีมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาไปทำวิจัยที่แคนาดาภายใต้ความร่วมมือระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งไทยและแคนาดา ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากการประสานงานของศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง ให้ติดต่อไปยังอาจารย์แอน Prof.Dr.Aijun An จาก Department of Electrical Engineering and Computer Science, Lassonde School of Engineering, York University, Canada ซึ่งท่านก็ได้ตอบรับเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ผมยังต้องเขียนเรียงความในหัวข้อ The developing countries of ASEAN and to achieve the 2030 Agenda for Sustainable Development และต้องสมัครผ่านไปยังมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบดูแลของมหาวิทยาลัยนี้คือ Beth Alaksa (Coordinator, International Mobility Programs) เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องทุนนี้ของมหาลัยและจะส่งเอกสารทุกอย่างไปที่รัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลแคนาดาจะประกาศผลโดยแจ้งผ่านมหาลัยกลับมาอีกที ซึ่งเจ้าหน้าที่คนนี้จะดูแลเราตั้งแต่รับสมัครทุนจนกระทั่งเราได้รับทุนวิจัยและเดินทางมาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัย นักศึกษาที่สมัครรับทุนจะต้องดำเนินการเรื่องเอกสารในกระบวนการเองทั้งหมด เช่น การส่งหลักฐานการสมัคร ใบสมัครต่าง ๆ การเขียนแนะนำตัวเอง การส่งอีเมลล์ติดต่ออาจารย์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ความสามารถภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับบรรยากาศในการมาทำวิจัยครั้งแรกที่ York University (Keele Campus) ผมมาครั้งแรกก็รู้สึกตื่นเต้นครับ (เป็นธรรมดาของคนมาต่างที่ต่างถิ่นเองเลยรู้สึกแบบนี้ครับ) ช่วงนี้ตรงกับช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีพอดีและอากาศค่อนข้างหนาว บรรยากาศในมหาวิทยาลัยร่มรื่นมาก มีนักศึกษาที่มีความหลายหลายทางด้านวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลกมาเรียนนี้ครับ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเรามีรถไฟใต้ดิน สายที่ 1 (สายสีเหลือง) ซึ่งสายนี้เราสามารถนั่งไป Down Town ได้ด้วย มาโผล่หน้ามหาลัยของเราด้วย ซึ่งสามารถทำให้การเดินทางมาเรียนสะดวกมากเลยครับ
อย่างแรก จะต้องเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่วิเทศของมหาวิทยาลัยแห่งนี้โดยเข้าพบกับ Beth Alaksa ที่ International Student floor 2, York Lane เพื่อดำเนินการเรื่องการเซ็นต์สัญญาทุนและประกันชีวิต โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับทุนนี้ทั้งสิ้น 7 คน และมาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยยอร์ค 2 คน คือ ผม และ พี่เจนนี่ เป็นนักศึกษาปริญญาโท จากวิทยาลัยสหวิทยาการ
เกือบลืมบอกไปว่าเรามาที่มหาวิทยาลัยนี้ในฐานะ International Visiting Research Trainee (IVRT) จึงต้องไปทำบัตรนักศึกษาด้วยซึ่งบัตรนักศึกษานี้ทำฟรีนะครับไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหายต้องเสียค่าทำบัตรใหม่ 30$ และบัตรก็สามารถเติมเงิน/จ่ายค่าต่าง ๆ ในมหาลัยด้วย แถมซื้อของในศูนย์หนังสือได้ส่วนลด 5%
ขั้นตอนที่ 2 คือ เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาการทำวิจัยของผมเอง (Prof.Dr.Aijun An) ที่ Lassonde Building, Floor 2, Room 2043 อาจารย์ต้อนรับเราดีมากแนะนำทุกอย่าง รวมถึงการพาไปรู้จักกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนในกลุ่มวิจัย และไปดูห้องพักนักศึกษา คล้ายกับที่สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ เลยครับ อาจารย์ได้พาไปแนะนำให้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ ชื่อ Seela Balkissoon (Computer Operations Manager) ซึ่งเป็นคนที่ดูแลอีเมลล์/ คีย์การ์ดเข้าตึกของนักศึกษา เจ้าหน้าที่ บุคลากร ทุกคนในภาควิชาฯ และแนะนำห้องพักนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ในกลุ่มวิจัยด้าน Data Mining (Room 3057-3058) โดยมีนักศึกษาอยู่ค่อนข้างมากประกอบไปด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และ post-doc รวมถึงผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ เพื่อน ๆ ในกลุ่มวิจัย Data Mining มีนักศึกษาทำวิจัยในส่วนนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ยังได้รับความสนใจอยู่เช่นเดียวกัน สามารถติดตามข่าวสารในกลุ่มวิจัยของเราได้ในเว็บ http://dminer.eecs.yorku.ca/
ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมคลาสเรียนของรายวิชา EECS-6412 (Data Mining) Fall 2019 สอนโดย Prof.Dr.Aijun An มีนักศึกษาโทจากสาขาต่าง ๆ ของคณะวิศวะมาเรียนประมาณ 25 คน บรรยากาศตื่นเต้นมาก เพราะมีแต่คนรุมถามอาจารย์ และที่สำคัญทุกคนชอบมานั่งหน้าด้วยครับ ทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 – 18.00 น. กลุ่มวิจัยของเราจะมีการพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้และงานวิจัยที่ตัวเองมีความชำนาญการ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เชิญมาบรรยายด้วยครับ
ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ได้เล่ามารวมถึงภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเป็นส่วนช่วยผลักดันให้ผมดำเนินงานวิจัยให้เสร็จสิ้นและเป็นประโยชน์แก่ตัวเองรวมถึงได้สร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยระหว่างสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์ค สำหรับการมาทำวิจัยในครั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณ ทุนการศึกษา Canada-ASEAN Scholarships and Educational Exchanges for Development (SEED 2019-2020) ที่ได้รับจากรัฐบาลแคนาดา ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และครอบครัวที่มีส่วนช่วยผลักดันในการมาทำวิจัยในครั้งนี้ ผมถือว่าการมาประเทศในแคนาดาในครั้งแรกนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่งในการเรียนรู้การใช้ชีวิต การแก้ปัญหา ตลอดจนการทำงานวิจัยให้ตัวผมเองพัฒนาต่อไปและจะนำความรู้ที่ได้ไปบอกเล่าให้คนรุ่นหลังต่อไปครับ