เปลี่ยนภาษา:  English

นายศิวกร สุวรรณจินดา นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

นางสาวปาริชาต ภัทรพานิชชัย นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ University of Regina ประเทศแคนาดา

ว่าที่ ร.ท. เฉลิมรัช นนทะภา นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ York University ประเทศแคนาดา

นายปริญญา บุญเอี่ยม นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

นายเอกรินทร์ จ่าเมือง นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

ดูบันทึกจากนักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้งหมด

นายศิวกร สุวรรณจินดา นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

นักศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
5 มิถุนายน 2562 ถึง 7 สิงหาคม 2562 และ 25 สิงหาคม 2562 ถึง 15 กันยายน 2562

นักศึกษาแลกเปลี่ยนระดับปริญญาตรี ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

สวัสดีครับ ผมนายศิวกร สุวรรณจินดา ตอนที่เขียนบทความนี้ผมพึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 กำลังขึ้นปีที่ 4 ผมและเพื่อนของผมได้รับโอกาสจากอาจารย์ที่ปรึกษาผู้ช่วยศาสตราจารย์      ประภาพร รัตนธำรง ชวนให้ไปทำโปรเจคร่วมกับนักวิจัยที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งโปรเจคที่ไปทำนั้นเกี่ยวกับ “การศึกษาระบบตรวจสอบประสิทธิภาพโครงสร้างทรัพยากรพื้นฐานบนอุปกรณ์ไอโอทีเกตเวย์” ซึ่งแน่นอนครับพวกผมตอบตกลงไป

หลังจากที่ตอบตกลงผมต้องทำการส่ง Curriculum Vitae (CV) ให้ทางฝั่ง AIST พิจารณาก่อนครับ ซึ่งหลังจากที่ผ่านการพิจารณามาเรียบร้อย ก็เป็นขั้นตอนกรอกเอกสารการเดินทาง ประกันภัยและที่พักส่งให้กลับทาง AIST เพื่อออกเอกสารรับรองสำหรับนำไปใช้ขอ VISA (เนื่องจากอยู่ที่ญี่ปุ่นนานเกิน 15 วัน)

หลังจากที่ทำเรื่องเอกสารเสร็จก็ถึงเวลาออกเดินทาง ต้องบอกไว้ก่อนเลยครับว่าผมและเพื่อนของผมนั้นไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศมาก่อน ในด้านภาษาผมก็ไม่เก่งมากนักส่วนมากจะรู้แต่ศัพท์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม แต่โชคดีที่เพื่อนของผมนั้นค่อนข้างเก่งอังกฤษทำให้ลดปัญหาด้านการสื่อสารลงไปครับ  เมื่อไปถึงประเทศญี่ปุ่นความประทับใจแรกที่ผมเจอเลยคือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สะอาดมากครับขยะข้างทางไม่มีเลย อากาศ ก็บริสุทธิ์มาก และที่สำคัญเลยครับคือคนญี่ปุ่นตรงเวลามาก รถโดยสารที่มารับจากสนามบินไป AIST มาตรงเวลามากครับป้ายเขียนเวลาเข้า-ออกตอนไหนคือตามนั้นเลยครับไม่ขาดไม่เกิน

ฟเมื่อมาถึงที่ทำงานในวันแรกก็ไม่ได้ทำอะไรมากครับแค่ลงทะเบียน อ่านกฎในที่ทำงาน ทำความรู้จักกับเพื่อนที่ทำงานซึ่งก็เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลมาทำโปรเจคกับทาง AIST เหมือนกัน จากนั้นก็เอาของไปเก็บในที่พัก เริ่มงานในวันที่ 2

ในส่วนของบรรยากาศในที่ทำงาน ผมรู้สึกเหมือนอยู่ที่ไทยเลยครับเนื่องจากห้องที่ผมทำงานนั้นมีแต่คนไทย ทำให้ทุกอย่างดูเป็นกันเองมาก ๆ ส่วนเรื่องการเดินไปสถานที่ทำงานนั้นก็ไม่ได้ลำบากมากนักเนื่องจากหอพักอยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานสามารถเดินถึงได้ภายใน 10 นาที ในด้านความปลอดภัยทาง AIST ก็ให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้ด้วยครับ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องแผ่นดินไหวบ่อยครั้งทาง AIST จึงมีหมวกนิรภัยแจกให้กับทุกคนในห้อง และมีคู่มือสำหรับรับเมือเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยมาให้ด้วยครับ

ผมลืมบอกไปเรื่องหนึ่งครับ คือในการที่เราจะมาทำงานที่ AIST นั้น เราจะต้องมีคนดูแลด้วยโดยในเรื่องของเอกสารการทำงาน ที่พักและการเดินทางนั้นเราได้รับการช่วยเหลือจากคุณ Yasuko Tasaki ส่วนเรื่องของโปรเจคนั้นได้รับการดูแลจาก Dr.Jason Haga ครับ

หลังจากประมาณ 2 อาทิตย์ที่ได้เริ่มงานทางทีมนักวิจัยของ AIST ที่อยู่ห้องใกล้เคียงก็ได้มีการจัดงานเลี้ยงเนื้อย่างต้อนรับการมาของนักศึกษาชาวไทย ซึ่งเป็นการเลี้ยงตอนรับที่เป็นกันเองเอามาก ๆ ซึ่งทำให้พวกเราที่เป็นนักศึกษารู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

ในด้านความเป็นอยู่เนื่องจากญี่ปุ่นมีคลองชีพที่สูงกว่าไทยทำให้อาหารโดยส่วนใหญ่มีราคาที่สูงตามไปด้วยโดยเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 500¥(150 บาท) ซึ่งมากกว่าไทยประมาณ 3 เท่าทำให้ส่วนใหญ่แล้วพวกผมจะทำอาหารกินกันเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ในบางวันก็ออกไปกินข้างนอกบ้าง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีร้านอาหารเยอะมากเพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องจะหาอะไรกินไม่ได้ครับ ในเรื่องการเดินทาง ทางที่พักได้มีจักรยานให้ยืมครับซึ่งที่นี่ทำให้ผมประหลาดใจมาก คือจักรยานสามารถไปได้ทุกที่ในเมือง เนื่องจากเมืองที่ผมอยู่นั้นมีทางจักรยาน แยกกับรถยนต์และคนเดินเลย ส่วนผู้ขับขี่รถบนท้องถนนนั้นก็มีระเบียบกันมากโดยส่วนมากกว่า 99% ที่พบเจอคือเคารพกฎจราจรกันหมดครับ และมักให้ทางกับผู้ต้องการข้ามถนนตลอด ผมจึงบรรลุว่าทำไมประเทศนี้ถึงมีอุบัติเหตุต่ำ

หลังจากที่ทำงานมาเกือบ 2 เดือนในอาทิตย์สุดท้ายก่อนกลับบ้านทาง AIST ก็ได้มีการจัดประชุมเล็ก ๆ ขึ้น เพื่อที่จะให้แต่ละกลุ่มได้ออกมานำเสนอผลงานของตนที่ทำมาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพวกผมก็ผ่านกันมาได้ด้วยดี หลังจากที่นำเสนอเสร็จก็ได้มีการกินเลี้ยงกันแต่ในครั้งนี้มีแค่ฝั่งของนักศึกษาชาวไทยเท่านั้นซึ่งต้องบอกว่าสนุกมาก ๆ เลยครับ

แต่ความท้าทายนั้นยังไม่จบครับ หลังจากกลับมาไทยได้ประมาณ 1 เดือนทางอาจารย์ที่ปรึกษา(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประภาพร รัตนธำรง) ก็ได้ชวนให้พวกผมไปนำเสนอโปรเจคที่ได้ทำกับทาง AIST ที่งาน PRAGMA ครั้งที่ 37 ณ University of California San Diego (UCSD) ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งพวกผมก็ได้ตอบตกลงครับเพื่อที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศมากขึ้นไปอีก โดยในการไปครั้งนี้ก็ได้ทุนจากทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, AIST และ UCSD ซึ่งพวกผมต้องอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 อาทิตย์เพื่อช่วยจัดงานประชุมวิชาการ PRAGMA Workshop ร่วมกับคณะกรรมการนักศึกษาในสมาพันธ์ และ ทดลองติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับสร้างเน็ตเวิร์คโอเวอร์เลย์ที่ชื่อ IPOP ลงบนอุปกรณ์ไอโอที

เมื่อเดินทางถึง San Diego สหรัฐอเมริกา ก็สัมผัสได้ถึงความแตกต่างระหว่างบรรยากาศ อาหารการกิน และผู้คนครับ โดยอากาศที่นี่จะออกไปทางแห้งแล้ง ตอนกลางวันจะร้อน กลางคืนจะหนาว ในด้านอาหารการกินผมคิดว่าญี่ปุ่นนั้นแพงแล้วแต่ที่นี่นั้นแพงกว่าโดย 1 มื้อนั้นอาหาร Fast Food จะตกอยู่ที่ประมาณ 10 $ (300 บาท) และถ้าเป็นข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 13 – 20  $ (400 – 600 บาท) ซึ่งแน่นอนครับผมเลือก Fast Food ฮ่าๆๆๆ พอกลับมาไทยนำหนักเพิ่มเลยครับ ในส่วนของผู้คนนั้นที่นี่จะเป็นคนพูดอะไรตรงไปตรงมาครับ และเป็นกันเองมากกว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับทางฝั่งญี่ปุ่นจะพูดแบบอ้อมค้อมนอบน้อมมากกว่าครับ

ในวันแรกพวกเราไม่ได้ทำอะไรกันมากแค่กินข้าว เก็บของ และก็หลับอย่างเอาเป็นเอาตายเลย เนื่องจากอาการ Jet Lag (ครั้งแรก) จากนั้น 2-3 วันหลังจากปรับตัวได้ก็เริ่มทำงานที่ UCSD ตามปกติโดยในอาทิตย์แรกจะทำเกี่ยวกับ การทดลองติดตั้งซอฟต์แวร์ IPOP ลงบนอุปกรณ์ไอโอที ซึ่งได้นักวิจัยจากทาง University of Florida (UF) เป็นคนช่วยสอนการติดตั้ง จากนั้น 2 อาทิตย์หลังจะเป็นการช่วยจัดงาน PRAGMA ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบจัดการเรื่องสถานที่ในครั้งนี้คือนักวิจัยชื่อ Shava Smallen ซึ่งนอกจากจะเป็นคนคอยจัดการเรื่องงานแล้ว ยังเป็นคนที่ดำเนินเรื่องทุนการเดินทางจากไทย-สหรัฐอเมริกา และคอยดูแลพวกเราตอนที่อยู่ UCSD ต้องขอขอบคุณมาก ๆ ครับ

และเมื่อถึงอาทิตย์ที่ 3 อาทิตย์ที่ต้องนำเสนองาน บอกตามตรงว่าแตกต่างกันกับที่ AIST โดยสิ้นเชิงครับ ที่นี่มีนักวิจัยจากหลายประเทศมารวมตัวกันทำให้เกิดความกดดันเป็นอย่างมาก กว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ก็ทุลักทุเลเหมือนกันครับ

แต่หลังจากที่ผ่านมรสุมมาได้ก็เป็นช่วงพักผ่อนครับโดยทาง PRAGMA ก็ได้มีการจัดกิจกรรมพาไป สวนสาธารณะ Balboa Park ซึ่งเป็นหนึ่งในสวนที่มีความหลากหลายที่สุดในโลก โดยภายในก็จะมี พิพิธภัณฑ์และงานภาพ โรงละคร และสวนสัตว์อยู่ภายใน จากนั้นทาง PRAGMA ก็ได้ให้ตั๋วสำหรับเข้าพิพิธภัณฑ์มา 2 ที่ครับ คือ San Diego Natural History Museum และ Air and Space Museum

ที่แรกที่ผมเข้าไปนั้นคือ San Diego Natural History Museum ครับ ซึ่งภายในก็จะมีฟอสซิลตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์จนถึงยุคปัจจุบัน แมลงที่โดนสต๊าฟ ภาพแมลงที่ถ่ายแบบมาโคร แร่หินชนิดต่าง ๆ และงานศิลปะมากมาย ผมบอกเลยครับว่าเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง พิพิธภัณฑ์ที่นี่แตกต่างกับที่ไทยมากครับมีงานให้ดูเยอะมาก ที่ทั้งชีวิตผมไม่เคยเห็นมาก่อนซึ่งผมประทับใจเป็นอย่างมากครับ

หลังจากที่ประทับใจกับ Natural History Museum ผมก็ต้องประทับใจมากขึ้นไปอีกกับ Air and Space Museum ที่ภายในเต็มไปด้วยเครื่องบิน, เครื่องยนต์เครื่องบิน, ชุดอวกาศ, Command module ของจริงที่ถูกใช้ในภารกิจ Apollo 9,  แบบจำลอง Mars Rover ที่เป็นหุ่นยนต์ถูกใช้ในภารกิจสำรวจดาวอังคารและเศษอุกกาบาต ซึ่งผมไม่ได้มีโอกาสเห็นอะไรแบบนี้ได้บ่อยครั้งนักผมจึงว้าวกับผลงานที่จัดแสดงทุกอย่างเลย

ซึ่งหลังจากที่กลับมาถึงที่ไทยแล้ว ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมากครับ ได้รู้จักคนมากมาย ได้เห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากที่ไทย ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกการสื่อสารกับคนต่างชาติ (ถึงจะไม่ได้เก่งขึ้นแบบก้าวกระโดดแต่ก็ดีขึ้น) และที่สำคัญที่สุดเลยคือการคว้าโอกาสหาสิ่งใหม่ที่แน่นอนมันจะให้ความลําบากตรากตรําสารพัดให้กับเรา แต่สิ่งที่กลับมานั้นมีค่ามากกว่าที่คิด

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ อาจารย์ที่ปรึกษาผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประภาพร รัตนธำรง ที่ให้โอกาสกับพวกผมในการออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเปิดหูเปิดตา ขอบคุณ Dr.Jason Haga และ Shava Smallen สำหรับการช่วยเหลือต่าง ๆ มากมายทั้งเรื่องการแนะนำความเป็นอยู่ และสอนเทคนิคการนำเสนอ ขอบคุณครับ