เปลี่ยนภาษา:  English

นางสาวนันท์ณภัส บันลือสมบัติกูล นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ University of Florida และ UC San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา

นางสาวปาริชาต ภัทรพานิชชัย นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ University of Regina ประเทศแคนาดา

ว่าที่ ร.ท. เฉลิมรัช นนทะภา นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ York University ประเทศแคนาดา

นายปริญญา บุญเอี่ยม นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

นายเอกรินทร์ จ่าเมือง นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น

ดูบันทึกจากนักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้งหมด

นางสาวนันท์ณภัส บันลือสมบัติกูล นักศึกษาแลกเปลี่ยน Outbound ที่ University of Florida และ UC San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา

นักศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
30 มีนาคม 2560 ถึง 8 พฤษภาคม 2560

นักศึกษาแลกเปลี่ยนระดับปริญญาตรี ภายใต้ทุนสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมัชชาความร่วมมือวิจัยนานาชาติ PRAGMA ไปนำเสนอผลงานในการประชุม The 32nd PRAGMA Workshop และทำวิจัยที่ Advanced Computing and Information Systems (ACIS) Laboratory ที่ UF และ San Diego Supercomputer Center (SDSC) ที่ UCSD

สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาวนันท์ณภัส บันลือสมบัติกูล ชื่อเล่นชื่อแบม เป็นนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 56 (CSTU รุ่น 28) ค่ะ แบมได้มีโอกาสรับทุนของคณะไปแลกเปลี่ยนที่ University of Florida (UF) ณ เมือง Gainesville รัฐ Florida และ University of California, San Diego (UCSD) ณ เมือง San Diego รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลาประมาณเดือนกว่า ในช่วงระหว่างศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ค่ะ

เรื่องราวเริ่มต้นจากที่นักศึกษาวิทย์คอมชั้นปีที่ 4 ทุกคนต้องมีโปรเจคจบ ซึ่งในตอนนั้นแบมยังตัดสินใจเลือกไม่ได้ว่าจะทำอะไรดี มีแค่จุดประสงค์เดียวคืออยากทำงานอะไรก็ได้ที่เสร็จแล้วผู้ใช้ได้นำไปใช้ประโยชน์จริง จนกระทั่งเข้าสู่ปี 4 เทอม 1 ประจวบเหมาะกับในปีนั้น CSTU ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีของสมัชชาความร่วมมือวิจัย PRAGMA (Pacific Rim Application and Grid Middleware Assembly) ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากหลากหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก และ CSTU ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกหลักของสมัชชา PRAGMA ในงานประชุมนั้นมีการจัดแข่งขัน Student Hackathon ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนเริ่มการประชุมหลัก อ.ดร.ประภาพร รัตนธำรง (อ.นุ่น) และอ.ดร.วนิดา พฤทธิวิทยาจึงได้ประกาศเชิญชวนให้นักศึกษาเข้าร่วม และนั่นคือจุดที่ทำให้แบมและเพื่อนได้พบกับนักวิจัยในกลุ่ม PRAGMA เป็นครั้งแรก ในการแข่งขันครั้งนั้น

แบมพร้อมกับเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน ได้แก่ โป๊ะ ประพันธ์ศักดิ์ แก้วละมุล และ พิชเชอร์ พิชญ์ชาธร บำรุงศรี ได้แข่งขันออกแบบและพัฒนา User Interface ของเว็บแอปพลิเคชันต้นแบบสำหรับการแสดงทรัพยากรบนระบบคลาวด์ของ PRAGMA ที่มีการแบ่งปันกันให้ใช้งานภายในกลุ่มนักวิจัย และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จำเป็นต้องใช้งานจริงภายในกลุ่มนักวิจัย และทาง PRAGMA เองก็ต้องการให้มีการพัฒนาต่อยอดจากการออกแบบในงาน Hackathon แบมและโป๊ะผู้ที่ยังไม่มีโปรเจคในดวงใจ จึงโชคดีได้รับโอกาสในการทำโปรเจคนี้ โดยมีอ.นุ่นเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

หลังจากการแข่งขันครั้งนั้น (ช่วงเริ่มต้นของชั้นปีที่ 4) แบมและโป๊ะต้องทำโปรเจคจบและรายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์กับอ.นุ่น และประชุมทางไกลร่วมกับนักวิจัย PRAGMA จาก UCSD ได้แก่ Nadya Williams และ Shava Smallen ทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อรับ Feedback และปรับปรุงแก้ไขงานตามความต้องการจากผู้ใช้จริง ทำให้เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ในการฝึกพูดภาษาอังกฤษและทำงานแบบมี Milestone ที่ชัดเจน จนเข้าสู่ช่วงปลายเทอม 1 ทางกลุ่มนักวิจัย PRAGMA และอ.นุ่นได้ประสานงานให้แบมและโป๊ะมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนทำวิจัยระยะสั้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะไปเป็นตัวแทน CSTU ในการนำเสนอผลงานที่ทำมาตลอดประมาณเกือบสองเทอมในที่ประชุม The 32nd PRAGMA Workshop ที่ University of Florida (UF) และทำวิจัยต่อที่ UCSD โดยทาง PRAGMA เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งส่วนที่พักและค่าอาหารในระหว่างที่อยู่ UCSD ให้ทั้งหมด

ณ ตอนนั้นทั้งแบมและโป๊ะตื่นเต้นมาก และได้เริ่มหาข้อมูลและเตรียมตัวเพื่อขอทุนแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมจากคณะโดยทันที ในช่วงนั้นจำได้ลาง ๆ ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนรอบการขอทุนแลกเปลี่ยนพอดี ต้องขอขอบคุณอ.นุ่นที่ช่วยเร่งดำเนินการกับทางคณะ และจัดเตรียมหลาย ๆ อย่างให้พวกเราทั้งสองคน ทำให้การเตรียมตัวก่อนเดินทางทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แบมได้รับทุนแลกเปลี่ยนจากคณะจำนวน 50,000 บาท ซึ่งการขอทุนนั้นจะต้องมีคะแนนภาษาอังกฤษ (TOEIC/TU-GET) และเกรดเฉลี่ยตามที่คณะกำหนด ดังนั้นหากน้อง ๆ อยากจะไปแลกเปลี่ยนอาจต้องเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่ต้องวุ่นวายในช่วงขอทุน เพราะทั้งการจองที่นั่งสอบและวันที่ผลสอบออก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย

เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน แบมและโป๊ะได้เดินทางเพื่อไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นไปที่ UF เพื่อเข้าร่วมงานประชุม PRAGMA ที่จัดขึ้นที่ Gainesville และเนื่องจากอ.นุ่นจบการศึกษาจาก UF และมีเครือข่ายคนรู้จักมากมาย ทำให้แบมและโป๊ะโชคดีไปด้วย เพราะพี่ ๆ คนไทยทุกคนดูแลเราอย่างดี ทั้งมารับไปส่งที่บ้านตั้งแต่วันแรก คอยพาแนะนำสถานที่ต่าง ๆ พาไปเที่ยวหลาย ๆ ที่ และที่สำคัญคือ พี่อรและพี่ปุ๋ยเจ้าของบ้านที่ให้แบมพักอาศัยอยู่ด้วยฟรี ๆ กว่า 2 สัปดาห์ แบบไม่ต้องเสียเงินสักบาทเลยค่ะ

วันแรกที่ไปถึง พักผ่อน 1 คืนยังไม่หายจากอาการ Jet lack วันรุ่งขึ้นก็ได้เดินทางไป Benton Hall เพื่อเข้าร่วมแข่งขัน The 1st CENTRA Smart Cities Student Hackathon ที่ทางกลุ่ม PRAGMA จัดขึ้นให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยและผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วม ทำให้แบมได้มีโอกาสแข่งขัน Hackathon ระดับนานาชาติครั้งแรก (อ.นุ่นแจ้งให้ทราบเรื่องการแข่งขันก่อนออกเดินทางหนึ่งสัปดาห์ ตอนนั้นหวั่นใจและกลัวมาก ๆ ค่ะ แต่ก็ลุยเต็มที่) การแข่งขันครั้งนี้เป็นการนำเสนอไอเดียสำหรับการสร้างระบบที่เป็นประโยชน์ต่อเมือง Gainesville โดยใช้ข้อมูล (Big data) จากเว็บไซต์ที่ถูกรวบรวมไว้ให้ประชาชนสามารถเข้าไปนำข้อมูลออกมาทำ Data Analysis ได้ จากการแข่งขันในครั้งนี้แบมและโป๊ะได้ร่วมทีมกับพี่นักศึกษาปริญญาเอกจาก NAIST และนักศึกษาใน UF อีก 2 คน โดยได้รับรางวัลชนะเลิศซึ่งเป็นตั๋วเครื่องบินไปเข้าร่วมงานประชุม PRAGMA ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีถัดไป จึงนับว่าเป็นงานที่ได้ทั้งประสบการณ์ ความรู้ และรางวัลที่เราปลาบปลื้มเป็นอย่างมากค่ะ

หลังจากวันนั้นแบมและโป๊ะได้เข้าร่วมงานประชุม PRAGMA เพื่อนำเสนองานต่อนักวิจัยในกลุ่ม PRAGMA ราว ๆ กว่า 100 คน ยอมรับว่าพวกเรายังตอบคำถามได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะยังฝึกภาษาอังกฤษได้ไม่ดีพอ น้อง ๆ ที่มาอ่านตรงนี้ขอแนะนำให้เริ่มฝึกภาษาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเลยนะคะ ฮ่าๆๆ นอกจากได้นำเสนอผลงานแบบ Oral presentation แล้ว แบมและโป๊ะก็ได้นำเสนอแบบ Poster presentation เพื่อพูดคุยและตอบคำถามกับนักวิจัยแบบตัวต่อตัว อีกทั้งในโปรเจคที่แบมและโป๊ะทำนั้นจำเป็นจะต้องมีการทำ Usability test โดยเป็นการทดสอบระบบกับผู้ใช้งานจริง ซึ่งนักวิจัย/นักเรียน/อาจารย์จากหลากหลายมหาวิทยาลัยได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งให้คำแนะนำและความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบที่พัฒนา ทำให้แบมได้มีประสบการณ์ในการสัมผัสกับกระบวนการจริง ในการพัฒนาซอฟต์แวร์หนึ่ง ๆ แบบมีผู้ใช้จริง และถูกนำไปใช้จริงอีกด้วย

หลังจากงานประชุม แบมและโป๊ะได้ทำโปรเจคต่อที่ UF โดยอยู่ในความดูแลของ Professor Dr. Jose Fortes (อาจารย์ที่ Electrical and Computer Engineering, ผู้ก่อตั้ง ACIS Lab) และผู้ช่วย Grace S. Hong ซึ่งทั้งสองท่านดูแลพวกเราอย่างดี จัดสรรพื้นที่ให้เราเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศ รวมทั้งพาเดินเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และให้คำแนะนำในเรื่องการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย การเรียนต่อระดับปริญญาโท/เอก และการขอทุนการศึกษาสำหรับศึกษาต่ออีกด้วย 

ในช่วงการแลกเปลี่ยนที่ UF ตรงกับจังหวะที่กลุ่มพี่ ๆ คนไทย เดินทางไปเที่ยว เมือง Georgia, Atlanta พอดี ทำให้แบมโชคดีได้เดินทางไปเที่ยวชมอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างมากทางด้าน Computer Science (CS) ที่ตั้งอยู่ที่นั่น คือ Georgia Institute of Technology ในระหว่างการอยู่ที่นั่นทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพี่นัทที่จบจากสาย CS และเป็น Manager อยู่ที่ IBM ใน Georgia ทำให้ได้เห็นถึงโอกาสและมีกำลังใจในการอยากไปทำงานในต่างประเทศมาก อีกทั้งได้พบปะกับนักเรียน Undergrad รุ่นราวคราวเดียวกัน ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนชีวิตการเรียนในต่างประเทศและรับคำแนะนำในการศึกษาต่อในระดับ Graduate school อีกด้วย หลังจากผ่านไปร่วมสองสัปดาห์ แบมและโป๊ะได้เดินทางไปยัง UCSD ที่ San Diego, California เพื่อทำงานร่วมกับ Nadya และ Shava ต่อ จังหวะนั้นเราทั้งสองได้ใช้โอกาสในการที่ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ Orlando ไปแวะเที่ยว Universal Studio Orlando และ Walt Disney World แบบสองวันรวด นับเป็นความโชคดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับการไปแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ^^

เมื่อเดินทางไปถึง UCSD เราทั้งสองคนได้รับการดูแลอย่างดีจาก Nadya และ Shava อากาศที่นั่นต่างจากที่ UF โดยสิ้นเชิง ลมหนาวพัดแรงและฝนโปรยปราย แต่ไม่มีใครกางร่ม ซึ่งนั่นทำให้เราไม่สบายตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย แต่บรรยากาศอื่น ๆ บอกเลยว่าประทับใจมาก โดยเฉพาะเวลาพระอาทิตย์ตก ท้องฟ้าที่นี่สวยมากจริง ๆ การพักอาศัย เราได้พักใน Apartment ของมหาวิทยาลัย ซึ่งพอเปิดเข้าไปแล้วตกใจมาก ดีเกินคาด มีห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัวแบบเต็มมากค่ะ แถมพร้อมด้วยแม่บ้านทำความสะอาดทุกวันเหมือนพักโรงแรม ต้องขอขอบคุณ Teri ผู้ช่วยประสานงานเรื่องการจองหอพักใน UCSD และทำให้แบมได้พักแบบฟรี ๆ จากทุนสำหรับ PRAGMA Student นอกจากที่พักที่ดีแล้ว ยังได้รับค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารในมหาวิทยาลัยทุกมื้อทุกวัน โดย Cafeteria ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแบบหยิบของทั้งหมดที่ต้องการ และนำมาชำระเงิน ของบางอย่าง เช่น ผลไม้ ก็จะคิดตามน้ำหนักที่เราหยิบมา ซึ่งเราสามารถหยิบเท่าไหร่ก็ได้อย่างที่เห็นในภาพด้านล่าง และบอกชื่อกับแคชเชียร์ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเลย

ตลอดระยะเวลาอยู่ที่นี่ นอกจากการได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยของ UCSD ทั้งมีการประชุมวางแผนงาน อัพเดทงาน การคิดแก้ไขปัญหาร่วมกัน การเห็นวิธีการทำงานของจริง และลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของนักวิจัยแล้ว เรายังได้ใช้ชีวิตแบบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจริง ๆ อีกด้วย พวกเราได้มีโอกาสเดินชมทั่วมหาวิทยาลัย เห็นชีวิตการเป็นอยู่ของนักศึกษา สีสันของเด็กที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ และผลงานศิลปะที่ตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วมหาวิทยาลัย นับเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าอย่างมาก และนอกจากการทำงานแล้ว Nadya และ Shava ได้พาพวกเราไปเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ มากมายในเมืองอีกด้วย

หลังจากเวลาเดือนกว่าได้ผ่านไป แบมได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ การไปแลกเปลี่ยน ถึงแม้จะคล้าย แต่ก็ไม่ใช่การไปเที่ยว เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้แบมได้รับโอกาสที่ดีมากในการลองทำอะไรใหม่ ๆ ในสถานที่ใหม่ ๆ กับผู้คนใหม่ ๆ ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่หาที่อื่นไม่ได้ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการใช้ชีวิตและลักษณะของผู้คนในสถานที่หนึ่ง ๆ นั้นเป็นอย่างไรจนกว่าเราจะได้ไปอยู่ที่นั่นจริง ๆ การไปแลกเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้มุมมองหลาย ๆ อย่างของแบมเปิดกว้างขึ้นมาก มีความกล้ามากขึ้น พร้อมที่จะก้าวออกจาก comfort zone เพื่อเผชิญกับชีวิตนอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทั้งในด้านการทำงานและการศึกษาต่อ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้อง ๆ ที่เข้ามาอ่าน มีแรงบันดาลใจในการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ระหว่างการเรียนในระดับปริญญาตรีมากขึ้น ส่วนน้อง ๆ คนไหนมีแผนจะไปแลกเปลี่ยน ก็ขออนุญาตแนะนำให้เริ่มวางแผนจริงจัง ทั้งด้านการฝึกภาษา การทำผลการเรียนให้ดี และขยันตั้งใจรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจและการยอมรับจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่เราหวังไว้ ซึ่งต้องขอบอกเลยว่าการได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีเป็นโชคดีในชีวิตมาก ๆ ค่ะ ;D