ระดมทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมสร้างผลงานวิจัย “ความหวังทุเรียนไทย ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม”
รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)”
ซึ่งได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โดยผลงานวิจัยนี้ มีนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มาจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ. ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์, รศ. ดร.สุเพชร จิรขจรกุล, รศ. ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล, ผศ. ดร.เรวัตร ใจสุทธิ, ผศ. ดร.วิลาวรรณ์ เชื้อบุญ และอาจารย์ ดร.พฤกษ์ ชุติมานุกูล และมีนักวิจัยจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง คุณปิยะพงษ์ สอนแก้ว และคุณธนัชชา ชัยดา และนักวิจัยจากต่างสถาบัน รศ. ดร.เกริก ภิรมย์โสภา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมชุมชน และเชิงนโยบาย โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของ จังหวัดจันทบุรี และของประเทศ
ผลงานวิจัยชุดโครงการนี้ ได้รับการจัดสรรทุนการวิจัยโครงการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อการส่งออก) ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชิงบูรณาการ รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี smart farmer เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่าน application ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ application ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง (premium grade) ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า (Phytophthora sp) ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียนผลสด ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาคและผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ทีมนักวิจัย ได้เชิญผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี, เกษตรจังหวัดจันทบุรี, ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และนายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เพื่อจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ความหวังทุเรียนไทย ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม”
เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการควบคุมคุณภาพการผลิตทุเรียนไทย สู่ประชาชน