จากเหตุเพลิงไหม้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ เภาประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำการรับมือสารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน ในสถาการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไพแก๊ส (pygas) เป็นผลิตภัณฑ์จากการผลิตสารจำพวกโอเลฟิน (olefin) ไพแก๊สมีหลายองค์ประกอบ แต่มีส่วนผสมหลักเป็นสารอะโรมาติก (aromatic compound) ได้แก่ เบนซีน (benzene) ทอลูอีน (toluene) และไซลีน (xylene) สารประกอบเหล่านี้มีค่าออกเทนสูง จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการนำไปเป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มค่าออกเทนในการผลิตน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารหรือวัตถุดิบอื่นอีกด้วย และเนื่องจากมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักจึงเป็นเชื้อเพลิงสำหรับติดไฟได้ดี หากติดไฟจะลุกลามได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง จึงควบคุมได้ยาก
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นสารโมเลกุลเล็กจึงระเหยได้ง่าย เมื่อไพแก๊ศผ่านเข้าสู่ระบบหายใจในปริมาณเล็กน้อยจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากเข้าสู่ดวงตาก็จะทำให้ระคายเคืองตา แต่หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะทำให้เกิดการวิงเวียนเพราะขาดออกซิเจน และหากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ แนะนำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตได้โดยง่าย เพราะสารเหล่านี้มีกลิ่นเฉพาะตัว หากได้กลิ่น ควรรีบออกจากพื้นที่โดยเร็ว หน้ากากอนามัยโดยทั่วไปไม่สามารถป้องกันไพแก๊สได้เพราะโมเลกุลของไพแก๊สมีขนาดเล็ก สามารถหลุดรอดหน้ากากอนามัยเข้าสู่ระบบหายใจได้ ต้องใช้หน้ากากป้องกันสารเคมีจึงจะป้องกันได้ เนื่องจากไพแก๊สมีสารอะโรมาติกเป็นองค์ประกอบหลัก จึงเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ซึ่งจะทำให้เกิดเขม่าสีดำและ PM2.5 ด้วย โดย PM2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หน่วยงานที่เข้าพื้นที่เกิดเหตุควรควบคุมเพลิงให้ได้โดยเร็วที่สุดเพื่อลดกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบว่ามีวัสดุไวไฟอื่นๆในพื้นที่อีกหรือไม่ หากมี ให้รีบขนย้ายออก