คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างหน่วยงาน

19 มี.ค. 2024 | ข่าวทั่วไป

วันที่ 19 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI TU) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) กับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ และมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย 

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU)  ในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การให้ความร่วมมือกันในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร(HRFIN) ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร เพื่อผลิตมหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณลักษณะโดดเด่น คือ มีทักษะความรู้และมีทักษะความชำนาญสูงในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ที่พร้อมขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สามารถประยุกต์ใช้ทักษะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ช่วยส่งเสริมให้ที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารได้ตามความต้องการผู้บริโภค มีสมรรถนะสูงทางด้านกระบวนการคิด การสื่อสาร และการเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างเครือข่ายทางการศึกษา การวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากร ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และผลงานทางวิชาการ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาของทั้งสองหน่วยงาน 

นอกจากนี้ การร่วมมือครั้งนี้ยังรวมถึงการสนับสนุนและจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับชุมชนนักพัฒนา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอภิปราย การแลกเปลี่ยนความรู้ และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาศรี เทพรักษา ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า 

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือวันนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร หลักสูตรปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2566 มีเป้าหมายในการผลิตมหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหาร ที่มีคุณลักษณะ 3 ประการดังนี้

1) มีทักษะความรู้และมีทักษะความชำนาญสูงในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ที่พร้อมขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
2) สามารถประยุกต์ใช้ทักษะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ช่วยส่งเสริมให้ที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารได้ตามความต้องการผู้บริโภค
3) มีสมรรถนะสูงทางด้านกระบวนการคิด การสื่อสาร และการเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร

จากวัตถุประสงค์ของหลักสูตรดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่า องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเพียงศาสตร์เดียวนั้น ไม่สามารถสร้างมหาบัณฑิตทางด้าน นวัตกรรมอาหารตามเป้าหมายของหลักสูตรได้อย่างสมบูรณ์ ทางหลักสูตรเล็งเห็นว่า องค์ความรู้จากทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะสามารถเติมเต็มให้มหาบัณฑิตของหลักสูตรได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้ติดต่อขอคำปรึกษาจากท่านคณบดีสมชาย สุภัทรกุล และด้วยความกรุณาอย่างที่สุดจากท่าน คณบดีคณะพาณิชย์ฯ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล และ รองคณบดีฝ่ายวิชาการฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรพรรณ ยลระบิล ช่วยนัดหมาย ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ MBA TU ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ และจัดประชุมร่วมระหว่าง 2 หลักสตูร ทำให้หลักสูตร HRFIN ได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดในการออกแบบหลักสูตร HRFIN และ ข้อจำกัดทางด้านองค์ความรู้ที่ทางสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้

ในการประชุมครั้งนั้น ท่านคณบดีฯ สมชาย ท่านรองฯ อรพรรณ และ ท่านผอ. MBAศาสตราจารย์ ดร.นภดล ได้ให้คำแนะนำช่วยเหลือ โดยท่านทั้งสามได้กรุณาเลือก รายวิชาของ MBA ที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา และยินดีให้นำ รายวิชานั้นๆ มาบรรจุเป็นวิชาเลือกให้กับนักศึกษาของ HRFIN อาทิ เช่น

1. บธ.605 การวิเคราะห์ทางธุรกิจ
2. บธ.610 การบัญชีเพื่อการตัดสินใจ
3. บธ.630 การจัดการการตลาดและตราสินค้า
4. บธ.731 ความเข้าใจเชิงลึกในพฤติกรรมผู้บริโภค
5. บธ.732 กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล
6. บธ.734 การตลาดสำหรับผู้ประกอบการ

MOU ฉบับนี้จะเป็นมิติใหม่ และเป็นต้นแบบของจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรโดยความร่วมมือข้ามศาสตร์ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี อันจะส่งผล เกิดเป็นประโยชน์ในการช่วยกันวางรากฐานและการพัฒนาวงการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการทำบันทึกข้อตกลงนี้ เพื่อร่วมมือกันในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ซึ่งจะร่วมดำเนินการจัดการเรียนการสอน  การควบคุมวิทยานิพนธ์  สารนิพนธ์  การค้นคว้าอิสระ การสอบวิทยานิพนธ์ การสอบประมวลความรู้ และ/หรือ การสอบวัดคุณสมบัติ   ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่ศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร  ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            ข้อตกลงนี้จะสร้างโอกาสให้นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้เพิ่มพูนความรู้  และสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการศึกษามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ และสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมืออันดีระหว่างหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

            นอกจากนี้ บันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะเป็นบันได เพื่ออำนวยความสะดวกในการหารือความร่วมมือโครงการที่เฉพาะเจาะจงต่อไปในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือ TBS มีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนคณะฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด TBS Forward ซึ่งครอบคลุมการขับเคลื่อนทั้งหมด 4 กลยุทธ์หลักได้แก่

1. ขับเคลื่อนความเป็นนานาชาติ (International Forward)
2. ขับเคลื่อนความร่วมมือ (Collaboration Forward)
3. ขับเคลื่อนทางการเงิน (Financial Forward)
4. ขับเคลื่อนความสุขบุคลากร (Happiness Forward)

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา กำลังจะได้ผนึกกำลัง กับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กลยุทธ์การขับเคลื่อนความร่วมมือ (Collaboration Forward) ในการร่วมสร้างมหาบัณฑิตที่มีลักษณะและความรู้ซึ่งผสานรวมระหว่างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารและมีสมรรถนะสูงทางด้านกระบวนการคิดและการสื่อสาร พร้อมเป็นบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมอาหารระดับผู้นำ มีสมรรถนะสูงทางด้านกระบวนการคิด การสื่อสาร และการเป็นผู้นำผมเชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือฉบับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เพียงแค่ระหว่างสองคณะฯ เท่านั้น แต่จะยังผลถึงการสร้างบุคลากรที่ได้ชื่อว่าเป็นอนาคตของประเทศต่อไปต้องขอขอบคุณท่านผู้บริหารจาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุกท่าน ที่เล็งเห็นความสำคัญในการ สร้างความร่วมมือในครั้งนี้ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในวันนี้จะกลายเป็นก้าวสำคัญที่เกิดเป็นกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เป็นรูปธรรม ระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี