คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่างหน่วยงาน

12 มี.ค. 2024 | ข่าวทั่วไป

วันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ภาคเอกชน สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที ทันต่อสถานการณ์โลก โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณวิชัย เจาชัยเจริญกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารและพัฒนาทุนมนุษย์และบริหารสำนักงาน เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้

.

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวความเป็นมาระหว่างความร่วมมือครั้งนี้ว่า

ที่ผ่านมาบริษัทส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตบัณฑิตวิทยาการประกันภัยในรูปของการให้บุคลากรของบริษัทเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นกรรมการร่วมตัดสินและให้ข้อเสนอแนะผลงานวิจัยของนักศึกษา ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการรับนักศึกษาฝึกงานเพื่อฝึกทักษะและหาประสบการณ์เชิงวิชาชีพ เพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างเข้มแข็งและก่อประโยชน์แก่นักศึกษาเต็มที่ จึงได้มีพิธีลงนามความร่วมมือขึ้น 

.

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า 

มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งในฐานะสถาบันการศึกษา ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มีความรู้ และความเข้าใจในสิ่งที่ตนสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับประกันวินาศภัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมักพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน โดยวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการจัดทำบันทึกความร่วมมือนี้ คือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ฝึกงาน และการปฏิบัติงานแบบสหกิจศึกษา รวมไปถึงการ คัดเลือกบัณฑิตที่จบการศึกษาเพื่อเข้าปฏิบัติงานกับบริษัท เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้ในโลกของการทำงานจริงและได้มีโอกาสในการปฏิบัติงานกับทางบริษัทต่อไป อีกทั้งยังมีการจัดอบรมหรือบรรยายเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของมหาวิยาลัยและนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษารวมถึงเพื่อประโยชน์ของบริษัท และบริษัทในเครือ ต่อไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ด้านวิชาการ และสั่งสมประสบการณ์ ความร่วมมือกันระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท ไทยรับประกัยภัยต่อ จำกัด (มหาชน) จะช่วยพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่อยอดและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อมหาวิทยาลัย บริษัท ฯ และประเทศชาติต่อไป

.

คุณวิชัย เจาชัยเจริญกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารและพัฒนาทุนมนุษย์และบริหารสำนักงานบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า 

ที่ผ่านมาบริษัทรับนักศึกษาฝึกงานมาโดยตลอด ในการนี้เพื่อเพิ่มความร่วมมือที่จะช่วยผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลงนามความร่วมมือกัน และช่วยกันพัฒนานักศึกษาต่อไป ความร่วมมือเช่นนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนและเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษา 

.

นอกจากนี้ยังมีการเล่าถึงประสบการณ์การรับนักศึกษาฝึกงานจากตัวแทนบริษัทที่มาเข้าร่วม ได้แก่ 
🤝คุณสุจิตรา เศวตบวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่าย Reserve Capital
🤝คุณศิวพร ผึ่งผาย ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์
🤝คุณวศิน ประเวศโชตินันท์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย
🤝คุณกานต์ปณัช พุทธรักษา HR Business Partner
ว่าที่เคยรับนักศึกษาจากหลักสูตรสถิติและประกันภัยมานั้น นักศึกษามีพื้นฐานการเรียนที่สามารถฝึกงานได้ และได้โอกาสที่จะมีประสบการณ์จริงจากการฝึก แล้วก็สามารถนำไปสู่การมีโอกาสได้ทำงานที่ตรงกับความต้องการของบริษัทมากขึ้น

.

.

ในงานยังได้มีการพูดคุยถึงแนวทางหลักสูตรฉบับปรับปรุง  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กมล บุษบา ผู้อำนวยการโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ หลักสูตรวิทยาการประกันภัย ได้กล่าวถึงหลักสูตรใหม่ที่นักศึกษาจะจบภายในสามปี และมีโอกาสได้เริ่มฝึกงานตั้งแต่ปีสอง

.

อีกทั้งยังมีการพูดคุยถึงการปูพื้นนักศึกษาในด้านการตั้งเงินสำรองประกันภัยและเงินสำรองของบริษัท การขยายความรู้ไปทางด้านการลงทุน มาตรฐานทางการเงิน และเตรียมนักศึกษาให้มีพื้นความรู้ทางด้านการบัญชีการเงิน ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนบัญชีประกันภัยซึ่งเป็นความรู้สำคัญทางด้านการสำรองประกันภัย

ที่สำคัญความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่การเตรียมนักศึกษาให้สามารถทำแผนผ่านมุมมองด้านการสำรองประกันภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป

รวมทั้งเสริมนักศึกษาด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้าน data science ด้านการเขียนโปรแกรม และเน้นให้นักศึกษาทำโปรเจ็คภายใต้การรับโจทย์จากภาคเอกชน