ค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก💐“อัญมณีศรีธรรมราช” ค้นพบในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช

11 Oct 2021 | ข่าวทั่วไป, ข่าวและกิจกรรมวิจัย

Inuthai, J., Chantanaorrapint, S., Poopath, M., Tetsana, N., Kiewbang, W. and Suddee, S. 2021. Corybas papillatus (Orchidaceae), a new orchid species from peninsular Thailand. PhytoKeys, 183, 1–7.

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกในสกุลเอื้องอัญมณี (Corybas Salisb.) คณะผู้วิจัยได้ตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ว่า Corybas papillatus Inuthai, Chantanaorr. & Suddee และมีชื่อไทยว่า “อัญมณีศรีธรรมราช” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสาร PhytoKeys

กล้วยไม้ในสกุลCorybas เป็นกล้วยไม้ดินขนาดเล็ก ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 120 ชนิด แพร่กระจายในแถบอินเดีย จีนตอนใต้ ภาคใต้ของประเทศไทย ภูมิภาคมาเลเซีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก คณะผู้วิจัยได้ตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ว่า Corybas papillatus ตามลักษณะของปุ่ม (papillae) ที่ปรากฏบริเวณครึ่งบนทางด้านหลังของกลีบเลี้ยงบน (dorsal sepal) โดยกล้วยไม้ชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับ Corybas villosus J. Dransf. & Gord. Sm. และCorybas ridleyanus Schltr. อย่างไรก็ตาม C. papillatus แตกต่างจากกล้วยไม้ทั้ง 2 ชนิดข้างต้นตรงที่บริเวณฐานของกลีบเลี้ยงด้านข้างเชื่อมติดกับกลีบดอกด้านข้าง อีกทั้ง C. villosus ด้านหลังของกลีบเลี้ยงบนมีลักษณะเป็นสัน ส่วน C. ridleyanus จะมีลักษณะของปลายกลีบเลี้ยงบนแบบปลายตัด ซึ่งแตกต่างจากกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้อย่างชัดเจน

คณะผู้วิจัยประเมินสภานภาพของกล้วยไม้ชนิดใหม่นี้ให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered) ตามหลักเกณฑ์ของ IUCN เพราะปัจจุบันกล้วยไม้ชนิดนี้ถูกพบเพียงแค่ 4 ต้น จากพื้นที่เดียวเท่านั้น คือ เขาหลวง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกค้นพบเพียงครั้งเดียวจากการสำรวจและเก็บตัวอย่างเมื่อปี 2018 นอกจากนี้ การรายงานการค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกและชนิดใหม่ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจากบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช แสดงให้เห็นว่าภาคใต้เป็นภูมิภาคสำคัญในแง่ความหลากหลายของกล้วยไม้ของประเทศไทยอีกด้วย

คณะผู้วิจัย

อาจารย์ ดร.เจนจรีย์ อินอุทัย สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาธรรมศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.สมราน สุดดี กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ดร.นัยนา เทศนา กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายมานพ ผู้พัฒน์ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายวิทวัส เขียวบาง ส่วนเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้

อาจารย์ ดร.เจนจรีย์ อินอุทัย อาจารย์​ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยี​ชีวภาพ​