เนื่องจากมีการระเบิดของโรงงานผลิตโฟมและพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงออกไปเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลต่อความวิตกกังวลของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ซึ่งการเผาไหม้นอกจากจะมีผลกระทบมาจากสารสไตรีนมอนอเมอร์ ที่สามารถติดไฟได้ง่ายแล้ว ยังมีก๊าซอีกชนิดที่มีอันตรายที่เกิดขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซดังกล่าว มีสูตรทางเคมีคือ CO มีน้ำหนักโมเลกุลประมาณ 28 กรัมต่อโมล มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือด อยู่ที่ประมาณ -205 และ -191.5 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ก๊าซ CO นี้เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและไม่มีรส เป็นก๊าซไวไฟสูงมาก และสามารถเกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ด้วยการสูดดมหายใจ ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบลำเลียงเลือด ทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงไม่ปล่อยออกซิเจน ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย และหมดสติ ถ้าได้รับในระดับความเข้มข้นสูง 5,000 ppm อาจจะเสียชีวิตในไม่กี่นาที ดังนั้นถ้ามีประชาชนอยู่ในบริเวณดังกล่าว ควรรีบทำการเคลื่อนย้ายไปยังบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าที่มีสารปนเปื้อนออก และอาบน้ำล้างให้สะอาด
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกิดการสะสมของมลพิษในดิน มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางอากาศ ซึ่งการปนเปื้อนของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ดังกล่าวนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่โดยรอบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม อากาศที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรคทางเดินหายใจและโรคปอดได้
บทความโดย
รศ.ดร.ศรุต อำมาตย์โยธิน
อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.