ขอแสดงความยินดีกับทีมนักศึกษา SCI-TU มธ. ลำปาง ในการคว้ารางวัล “Best HPC Performance” ให้ประเทศไทย ในการแข่งขันประมวลผลคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง พร้อมถ้วยรางวัลที่สาม ร่วมกับ “ไต้หวัน – ออสเตรเลีย – มาเลเซีย”

23 พ.ย. 2022 | ข่าวทั่วไป

วันนี้ National Computational Infrastructure Australia ร่วมกับ HPC-AI Advisory Council และ National Supercomputing Centre (NSCC) Singapore ประกาศผลการแข่งขันเร่งความเร็วงานคำนวณทางวิทยาศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ สำหรับนักศึกษาในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกครั้งที่ 5 “ The 5th APAC HPC-AI Competition (2022)” การแข่งขันนี้มีเป้าหมายให้เยาวชนได้ฝึกทักษะการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ ให้ทำงานได้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้คำตอบไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนด้านพลังงาน

การแข่งขันนี้ มีนักศึกษาและนักวิจัยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 24 ทีม รวมผู้เข้าแข่งขันกว่า 100 คน มาจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย 20 แห่ง จาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและออสเตรเลีย ผู้แข่งขันทุกทีมต้องเข้าฝึกอบรมทักษะการคำนวณด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์กว่า 4 เดือน ก่อนที่จะได้สิทธิเข้าไปใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ NCI GADI (เครื่องที่เร็วเป็นลำดับที่ 57 ของโลก) และ NSCC Aspire (เครื่องที่เร็วเป็นอันดับที่ ของโลก) ทุกทีมมีเวลา 2 เดือน ในการทำโจทย์ 3 ข้อ เพื่อชิงถ้วยรางวัล และชิงความเป็นเลิศในการแก้โจทย์แต่ละด้าน เรียกว่าเป็นการเดินทางเกือบ 6 เดือนที่ต้องฝึกทักษะ ความมุ่งมั่น อดทน

โจทย์ การแข่งขันทั้งสามข้อ เป็นประเด็นปัญหาหลักของโลก ที่งานคำนวณด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะ

  1. HPC Task มุ่งเน้นกลไกการผลิตพลังงานบริสุทธิ์จากไฮโดรเจน โดยใช้โปรแกรม Quantum ESPRESSO ซึ่งเป็นโมเดลจำลองทางฟิสิกส์ เพื่อจำลองการแยกไฮโดรเจนด้วยวิธีการแยกน้ำด้วยความร้อน (Thermochemical water splitting) โดยใช้อะตอมของซีเรียมออกไซด์
  2. Big Data Analysis Task เน้นการปรับความเร็วของโปรโตคอลการสื่อสารบนจีพียู ซึ่งเป็นงานเบื้องหลังของชุดเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล Dask ทีมต้องเร่งความเร็วของโปรแกรมที่ใช้ Dask-CUDA ทำงานบนเฟรมเวิร์กการสื่อสาร “OpenUCX” ให้ทำงานเร็วที่สุดบนคลัสเตอร์ของจีพียู

AI Task เป็นการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างโมเดลเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) บนคลัสเตอร์ของจีพียู เพื่อทำนายตำแหน่งการสังเคราะห์โปรตีน (Transcription Factor) บนสายรหัสดีเอ็นเอ

ในงานนี้ ทีมนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิชาเอกเทคโนโลยีการเรียนรู้ ศึกษาที่ศูนย์ลำปาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มีสมาชิก 5 คน คว้ารางวัล “Best HPC performance” ที่แสดงความเป็นเลิศในคำตอบของ HPC Task และยังคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศลำดับที่ 3 (Third Place) ร่วมกับ National Cheng Kung University team ประเทศไต้หวัน, , University of New South Wales team ประเทศออสเตรเลีย และ University Putra Malaysia team ประเทศมาเลเซีย

สมาชิกในทีม
นาย      ศุภเกียรติ์ ไหวพินิจ
นาย      กนกพล แซ่ว่าง
นางสาว วิราภรณ์ รสโหมด
นางสาว วิลาสินี ไหมทอง
นาย      ศฎานนท์ เรียงสันเทียะ
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ดีอัซ การ์บาโย เป็นโค้ช ผู้ควบคุมทีม

ทั้งนี้ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนกำลังการคำนวณสำหรับฝึกซ้อมจาก ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center -ThaiSC) ได้รับคำแนะนำจาก อาจารย์ ดร.รุจิภาส บวรทวีปัญญา อาจารย์ ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ สำหรับโจทย์ Quantum ESPRESSO, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตคม ศรีจิรานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำหรับโจทย์ Deep learning และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรเวทย์ ลีลาอภิรดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติสำหรับการวิเคราะห์ผลลัพธ์

การคว้ารางวัลครั้งนี้ ถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นของทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยได้ครองถ้วยรางวัลที่สามมาจากการแข่งขันปีที่แล้ว ซึ่งในปีนี้ นอกจากยังรักษาตำแหน่งถ้วยรางวัลที่สามไว้ได้ ยังสามารถคว้ารางวัล “Best HPC performance” ที่แสดงถึงผลงานที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้าน HPC  ยอมรับว่าเร็วที่สุดในการเร่งความเร็วของ HPC Task เป็นการก้าวไปอีกขั้นของทีมไทย ยืนเคียงข้างไปกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาค ทั้งจากประเทศไต้หวัน ออสเตรเลีย มาเลเซียและสิงค์โปร์