.
วงการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลกร่วมยินดี ทีมนักศึกษาวิทย์คอม-ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ยืนยันศักยภาพเยาวชนไทยด้านการคำนวณบนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ในภูมิภาคเอเซียแปซิกฟิก
คว้ารางวัล Merit Place จากการแข่งขัน the 6th APAC HPC-AI Competition ร่วมกับ ทีมจากออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเลเซีย และประเทศจีน
ประกาศผลในงานประชุมวิชาการ SC’2023 เมืองเดนเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 15 พย. 2566
ขอแสดงความยินดี กับนักศึกษาปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่สามารถแสดงศักยภาพของเยาวชนไทยคว้ารางวัล Merit Place จากการแข่งขันเร่งความเร็วการคำนวณงานด้านวิทยาศาสตร์ และปัญญาประดิษฐ์ บนเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ GADI ของ National Computational Infrastructure Australia ในการแข่งขัน the 6th APAC HPC-AI Competition มาได้สำเร็จ ทำสถิติคว้ารางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่สาม
การแข่งขันนี้จัดโดย HPC-AI Advisory Council ร่วมกับ Singapore National Supercomputing Centre และ National Computational Infrastructure Australia โดยมีบริษัท Nvidia และ X-ScaleSolution ร่วมสนับสนุน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังคนด้านการคำนวณสมรรถนะสูง หรือ HPC (High Performance Computing) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วภูมิภาคได้เรียนรู้ฝึกทักษะขั้นสูงในการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์กับนักวิจัยระดับโลกผ่านการฝึกฝนออนไลน์ ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้ทำงานบนเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ระดับโลกถึงสองระบบ ทั้งเครื่อง ASPIRE-2A ของประเทศสิงค์โปร์ และเครื่อง GADI ของ NCI Australia การแข่งขันครั้งนี้เป็นการต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 มีทีมของมหาวิทยาลัยจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ไต้หวัน สิงค์โปร์ ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 23 ทีม รวมผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 130 คน
ผู้แข่งขันทุกทีมต้องเข้าฝึกอบรมทักษะการคำนวณด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์กว่า 4 เดือน ก่อนที่จะได้สิทธิเข้าไปใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ NCI GADI (เครื่องที่เร็วเป็นลำดับที่ 83 ของโลก) และ NSCC Aspire-2A ทุกทีมมีเวลา 2 เดือน ในการทำโจทย์สองข้อ เพื่อชิงถ้วยรางวัล และชิงความเป็นเลิศในการแก้โจทย์แต่ละด้าน เรียกว่าเป็นการเดินทางเกือบ 6 เดือนที่ต้องฝึกทักษะ ความมุ่งมั่น อดทน
ในงานนี้ ทีมนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิชาเอกเทคโนโลยีการเรียนรู้ ศึกษาที่ศูนย์ลำปาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสมาชิก 8 คน คว้ารางวัล Merit Place ร่วมกับ Monash University (ออสเตรเลีย), Kasetsart University (ประเทศไทย), Universiti Putra Malaysia (มาเลเซีย) และ Lanzhou University (จีน) ทีมผู้ชนะรางวัลที่หนึ่งคือ ทีม ZY จาก The National Tsing Hua University จากประเทศไต้หวัน ซึ่งถือครองถ้วยรางวัลที่หนึ่งมาสองปีซ้อน รางวัลที่สองมีสองทีมได้แก่ ทีม Neutron จาก The Nanyang Technological University (สิงคโปร์) และทีมจาก The Southern University of Science and Technology (ไต้หวัน) รางวัลที่สามเป็นทีม SJ จาก The National Tsing Hua University (ไต้หวัน) ทีม Nebula จาก The Nanyang Technological University (สิงคโปร์) และทีม The National Cheng Kung University (ไต้หวัน)
นักศึกษาผู้ร่วมทีมมีทั้งสิ้น 8 คนได้แก่
- นาย ธนเทพ โรจนไพรวงศ์
- นาย ศฎานนท์ เรียงสันเทียะ
- นางสาว รัชนีกร วีระศิลป์
- นาย พีระ สิทธิรส
- นางสาว ชุติกาญจน์ อัศวมานะกิจ
- นางสาว กมลชนก ไชยโย
- นางสาว ธัญชนก สายัณห์
- นาย เกียรติศักดิ์ นวลอ้าย
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ดีอัซ การ์บาโย เป็นโค้ช ผู้ควบคุมทีม
“ธรรมศาสตร์ลงแข่งขันในเวทีนี้ต่อเนื่องมา 6 ปี เราคว้ารางวัลต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่สาม ซึ่งก่อนหน้านั้นเราเคยพลาดรางวัลลำดับสุดท้ายอย่างเฉียดฉิวมาก่อน แต่ด้วยการเริ่มต้นที่ดีและการสนับสนุนเครื่อง TARA ให้เราได้ฝึกซ้อมจาก ThaiSC มาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้ฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่อง คู่แข่งทุกทีมแข็งแกร่งมาก การคว้ารางวัลแต่ละปีต้องใช้ความพยายามที่มากขึ้นไปอีกทุก ๆ ปี ปีที่แล้วเราสามารถคว้า รางวัล Best Performance Award ได้ด้วยการทำการศึกษาโมเดลอย่างเป็นระบบ ใช้เครื่องมือวิเคราะห์สมรรถนะ และเครื่องมือทางสถิติ สรุปและทำรายงานผลจนผลงานของทีมได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ในฐานะโค้ชผู้ควบคุมทีมยืนยันได้ว่า ทีมนักศึกษาปีนี้ทุ่มเททำงานอย่างหนัก ได้ผลลัพธ์ที่รอบด้านดีกว่าปีที่แล้วมาก แต่ปีนี้ทีมจากประเทศไต้หวันและสิงค์โปร์แข็งแกร่งจนเราไม่สามารถเบียดขึ้นไปได้เลย โดยเฉพาะทีมจากประเทศไต้หวันที่คว้าเกือบทุกรางวัล ปีนี้ทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ครอง Merit Place ร่วมกัน กับทีมจากออสเตรเลีย, มาเลเซีย และจีน การแข่งขันครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ทีมไทยเรายังคงแสดงศักยภาพด้าน HPC เกาะติดเป็นหนึ่งในทีมผู้ชนะได้ ชื่นชมและขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาทุกคนกับรางวัลในครั้งนี้ด้วยค่ะ” ผศ. ดร.วรวรรณ ดีอัซ การ์บาโย โค้ช ผู้ควบคุมทีมกล่าว
การรักษาสถิติเป็นหนึ่งในผู้ชนะรายการนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของทีมนักศึกษาวิทย์คอม ศูนย์ลำปาง การรักษาสถิติต่อเนื่องสามปีถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นของทีมไทย ที่ปีนี้น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมยืนเคียงข้างไปกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาค ทั้งจากประเทศไต้หวัน ออสเตรเลีย มาเลเซีย จีนและสิงค์โปร์