เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ.ดร.วรางคณา สมพงษ์ รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและวิจัย พร้อมด้วย รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยด้านวัสดุผลึกเชิงหลายหน้าที่และการประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-MCMA) คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาผู้ร่วมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดย คุณสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ และคุณสมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้วิจัย ในโอกาสกระชับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณะผู้วิจัย และเข้าเยี่ยมชมห้องปฎิบัติการสำหรับการวิจัยและเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย
ทั้งนี้เนื่องด้วย กฟผ. ได้สนับสนุนทุนสำหรับโครงการวิจัยร่วมระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหน่วยวิจัย TU-MCMA และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ “การพัฒนาวัสดุรูพรุนโครงข่าย-โลหะอินทรีย์สำหรับดูดซับก๊าซ” โดยมี รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารดูดซับขั้นสูงสำหรับดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเก็บกักพลังงานไฮโดรเจน เพื่อตอบสนองต่อนโยบายแผนจัดระเบียบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของ กฟผ. และตอบรับนโยบายของภาครัฐเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 โดยรูปแบบการดำเนินงานของโครงการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบูรณาการแบบองค์รวม (Integrated Research) ของคณาจารย์และนักวิจัย จากสาขาวิทยาศาสตร์เคมี ผลึกศาสตร์ วัสดุศาสตร์ และวิศวกรรมเคมี เพื่อมุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิจัยสู่การนำไปประยุกต์ใช้งานจริงในระดับอุตสาหกรรม ถือเป็นโอกาสอันดีที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้และทักษะใหม่แก่นักศึกษาผู้ร่วมทำการวิจัย ให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
สำหรับคณะผู้วิจัยของโครงการฯ ประกอบไปด้วย ทีมผู้วิจัยจากหน่วยวิจัยด้านวัสดุผลึกเชิงหลายหน้าที่และการประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-MCMA) ได้แก่ รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก ผศ.ดร.นันทวัฒน์ วรรณฤทธิ์ และนักศึกษาผู้ร่วมวิจัย นอกจากนี้ยังมีผู้วิจัยร่วมจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ รศ.ดร.มาลี สันติคุณาภรณ์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.) ดร.วิญญา ดุงแก้ว (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) และ ดร.บุญรัตน์ รุ่งรวีวรนิตย์ (ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.)