“อันตรายจาก สไตรีนโมโนเมอร์ สารเคมีอันตรายถึงชีวิต” โดย อาจารย์ ดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี

6 ก.ค. 2021 | ข่าวทั่วไป

“อันตรายจาก สไตรีนโมโนเมอร์ สารเคมีอันตรายถึงชีวิต”

สไตรีนมอนอเมอร์ (Styrene monomer) เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดพอลิสไตรีน ที่เราคุ้นเคยในรูปของโฟมสีขาวๆ ที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร หรือวัสดุกันกระแทก

สารเคมีตัวนี้ที่อุณหภูมิห้องและความดันปกติจะมีลักษณะเป็นของเหลวใสข้นๆ คล้ายน้ำมัน สีออกเหลือง มีกลิ่นเฉพาะ จัดว่าเป็นสารไวไฟ และปลดปล่อยแก๊สพิษเมื่อลุกติดไฟ นอกจากนี้ในถังบรรจุที่มีปริมาณมากเมื่อลุกติดไฟอาจจะเกิดระเบิดได้ และคาดว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคน เนื่องจากมีรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง

ความเป็นพิษของสารเคมีตัวนี้ อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจหรือสัมผัสผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นผื่นแดง หรือรู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้ ถ้าได้รับปริมาณมากอาจจะรู้สึกปวดหัว คลื่นไส้ วิงเวียนจนถึงขั้นหมดสติได้ ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจมีผลต่อระบบสมองและตับได้

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากได้รับสารเคมีนี้
1. หากเข้าตา ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที โดยให้ขยับเปลือกตาเพื่อชะล้างสารเคมีที่อาจตกค้างอยู่ภายใน และถ้าสวมใส่คอนแทคเลนส์ ให้ถอดออกด้วย
2. หากสัมผัสผิวหน้ง หรือเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก แล้วล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แล้วชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยสบู่
3. หากสูดดมเข้าสู่ร่างกาย ให้รีบออกนอกพื้นที่ และใช้การปฐมพยาบาลด้วย CPR เมื่อผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น แล้วรีบส่งโรงพยาบาล

การตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
1. หากเกิดไฟลุกไหม้ ให้ใช้ถังดับเพลิงชนิดสารเคมีแห้ง แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ละอองน้ำหรือโฟม ในการดับไฟ และป้องกันการระเบิด
2. เนื่องจากไอระเหยของสารเคมีตัวนี้มีมวลหนักกว่าอากาศ ทำให้สามารถแพร่กระจายและเกิดไฟไหม้ในบริเวณกว้าง
3. คราบสารเคมี ควรกำจัดด้วยสารดูดซับสารเคมีหก หรือทรายแห้ง แล้วส่งกำจัด

บทความโดย
อาจารย์ ดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์
รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.